เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฏาคม 2567
เรื่อง สมชีวิตา
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกถึงกายทั้งกาย ผ่อนคลายร่างกายกล้ามเนื้อทุกส่วน พร้อมกับความรู้สึกว่าเราปลดความห่วงความเกาะ ผัสสะทั้งหลายทางกายออกไป ผ่อนคลายร่างกายพร้อมกับปล่อยวางขันธ์ห้าร่างกาย จนจิตเริ่มรวมตัวลงสู่ความสงบ เบา ละเอียด จากนั้นจึงกำหนด ปล่อยวางความกังวลทั้งหลาย ที่เรียกว่า “ปลิโพธ” ออกไปจากจิตใจ ความห่วง ความกังวล สิ่งที่เป็นภาระทั้งหลายของใจ เราวางลงให้หมด เมื่อเราวางทั้งกายวางทั้งจิต เราก็จะเริ่มเข้าถึงความสงบ ความสบาย จดจำไว้เสมอว่าการปฏิบัติธรรม การเจริญพระกรรมฐาน เป็นไปเพื่อความสุข ความสุขที่กล่าวมาก็คือ ความสุขความสงบของจิตใจ
ยิ่งวางยิ่งเบา ยิ่งวางยิ่งสงบ ยิ่งวางยิ่งเป็นสุข เมื่อไรที่เรารู้คุณค่าของการปล่อยวาง จิตของเราก็จะยิ่งปล่อยวางได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น แตกต่างกันกับผู้ที่ไม่เคยฝึกจิต เจริญสมาธิ ปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน ก็จะมีความเข้าใจผิดสำคัญผิดโดยอวิชชาว่า ยิ่งยึดยิ่งเป็นสุข ยิ่งยึดยิ่งกอบโกย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุยิ่งมีมาก ยิ่งมีความสุข แต่อันที่จริงแล้วหากเราพิจารณาโดยธรรม สิ่งที่เป็นของหยาบ สิ่งที่เป็นทรัพย์ภายนอก สิ่งที่เป็นมนุษย์สมบัติ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือเป็นทางอ้อมก็ตาม เราพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาญาณ มีความฉลาด มีความเข้าใจ ในการปล่อยวาง พิจารณาดูว่าทรัพย์สินทั้งหลาย กว่าจะหามา กว่าจะได้มา ก็เต็มไปด้วยความเหนื่อยยาก เต็มไปด้วยความทุกข์ มีทรัพย์สินเงินทองแล้วอันที่จริง มันก็เป็นภาระ ภาระอาทิเช่น เราหาเงินหาทองด้วยความเหนื่อยยาก รวบรวมเงินทองซื้อบ้านก็ดี ซื้อที่ดินก็ดี เป็นทรัพย์ ความรู้สึกว่ามันสร้างความมั่นคง แต่ถึงเวลาจริงๆแล้วทรัพย์ทั้งหลาย วัตถุธาตุทั้งหลาย มนุษย์สมบัติทั้งหลาย มันมีภาระ เป็นทุกข์ที่แอบแฝงมา ที่ดินซื้อไว้มีข้อพิพากกระทบกระทั่งกับที่ดินข้างเคียงก็เป็นทุกข์ ที่ดินซื้อไว้ในที่ห่างไกล ต้องเดินทางไปดูแลรักษาก็เป็นทุกข์ ที่ดินมีผู้มาบุกรุกเข้ามาใช้ประโยชน์เข้ามายึด มันก็เป็นทุกข์ หรือแม้แต่บ้านอาคารบ้านเรือนที่เราอยู่ ถึงเวลามันมีความเสียหาย มัน มีความเก่าความเสื่อม หลังคามันรั่วจากฤดูฝน มีบ้านมีภาระใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าซ่อมแซม ค่าตกแต่ง ดอกเบี้ยที่เราจะต้องจ่ายเป็นค่าผ่อน รวมความแล้วมันก็เป็นความทุกข์ที่แฝงมากับวัตถุ คิดพิจารณาไป จนกระทั่งเราเห็นจริงว่า มนุษย์สมบัติวัตถุธาตุทั้งหลายมันมีภาระมีความทุกข์แฝงทั้งสิ้น
ความสุขความทุกข์นั้น อันที่จริงมันเป็นคำนิยามที่มันมีความหมายกว้างขวางครอบคลุม มันมีความแตกต่างกันระหว่างความสุขในทางโลกกับความสุขในทางธรรม ความสุขทางโลกต้องมุ่งกอบโกยรวบรวมสร้างความมั่งมี ยิ่งรวยมากเท่าไร มีทรัพย์สินเงินทอง มีเครื่องประดับ มีวัตถุมาอวดมาประชันมาโชว์กันมากเท่าไร ยิ่งรู้สึกว่าเป็นสุข
ส่วนทางธรรมนั้น เป็นสุขที่ประณีตจากการพิจารณาแล้ว ค้นพบว่ายิ่งมีมากยิ่งเป็นภาระ ยิ่งมีบ้านห้าหลังสิบหลัง ค่าใช้จ่ายแต่ละหลังก็เต็มไปหมด รถยนต์เรามีหนึ่งคันก็เป็นภาระ ต้องซ่อมบำรุง ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ต้องเปลี่ยนยาง เปลี่ยนทีก็สี่เส้น รถยนต์เกิดเรามีสักสิบคัน ก็ต้องทยอยเปลี่ยนไปสี่สิบเส้นพร้อมกับเงินประกันแต่ละปีก็เป็นหลักหมื่นบ้างหลักแสนบ้างตามราคาของรถ รวมความแล้ว พิจารณาแล้ว ทุกสิ่งมันก็เป็นภาระ แต่ทางธรรมที่เป็นความสุขก็คือเราพิจารณาแล้วปล่อยวาง สมชีวิตาก็คือดำรงชีพที่มันเหมาะสม ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ไม่มากจนกระทั่งเป็นภาระของชีวิต ยิ่งวางลงมากเท่าไร ภาระทั้งหลายความทุกข์ทั้งหลายมันก็ลดลง แล้วก็เมื่อไรก็ตามปัญญาในธรรมในการปล่อยวางเราปล่อยวางมากเกินไป จนกระทั่งจิตของเรานั้น เห็นแล้วว่าความจำเป็นจริงๆ มันก็มีเพียงแค่พออยู่พอสบายพออาศัย มีมากเกินไปก็เป็นภาระเป็นความทุกข์ กิจทั้งหลาย ภาระทั้งหลาย ชีวิตทั้งหลายในทางโลกของความเป็นฆราวาสความเป็นคฤหัสถ์มันเป็นทุกข์ เห็นจริงลึกซึ้งจนกระทั่งความสุขทางโลกมันลดลงเบาลง จืดลงไปเรื่อยๆ พอความสุขทางโลกมันจืดลง อารมณ์ก็เริ่มเข้าสู่อารมณ์ใจในอารมณ์ของพระสกิทาคา แล้วเมื่อไรที่ใจมันจืดจนหมดความสุขความเพลิดเพลินความสนุกสนานในทางโลก จนตัดสินใจว่าเป็นผู้ออกเรือนก็คือ ละจากชีวิตของคฤหัสถ์ฆราวาส จิตพึงพอใจแต่บรรพชิต สภาวะของการที่เราต้องการออกบวช อารมณ์จิตก็จะเริ่มตัดความสุขที่เป็นกามคุณห้า ความสุขจากการที่เราเสวยความสุขจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลาภ ยศ เงินทอง รวมไปถึงโลกธรรมทั้งแปด จิตก็ก้าวเข้าสู่อารมณ์แห่งพระอนาคามี
สำหรับเราที่พึ่งปฏิบัติ เราวางเราฝึกวาง วางเพื่อให้ทุกข์มันน้อยลง กอบโกยให้มันน้อยลง สะสมให้มันน้อยลง มีอารมณ์ใจที่เราคิดพิจารณาว่า ชีวิตที่มันพอเหมาะพอดี ไม่เป็นภาระเกินไป ไม่อดอยาก ไม่คับแค้นไม่ขัดเคือง ไม่ขาดจนเกินไป ก็คือเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นทั้งทางสายกลาง ทั้งสมชีวิตาคือสมชีพสมฐานะ ซึ่งแต่ละคนนั้นมันอาจจะมีจุดที่สมดุลของชีวิตที่มันแตกต่างกัน เราก็พิจารณาเอาที่กำลังสบาย บางคนต้องการเพียงเท่านี้ เรือนไม้เล็กๆหลังหนึ่ง มีห้องนอนมีห้องครัวมีห้องน้ำ บางคนก็ต้องการที่มันจำเป็นที่มันมากกว่านี้ ก็เอาพอดีกับรายได้ของเรา ไม่รู้สึกเบียดเบียน ไม่รู้สึกเร่าร้อน ไม่รู้สึกว่าขาดเกินไป เมื่อไรก็ตามที่เราจำเป็นที่จะต้องเหนื่อยยากในการแสวงหา อันนี้ก็เริ่มทุกข์เพิ่มขึ้น ถ้าเกินกว่านั้นต้องการมีมากจนทะลุขอบเขต เกิดการเบียดเบียน เกิดการคดโกง เกิดการละเมิดศีลเพื่อให้มีเพื่อให้ได้ หรือมีเพื่อโอ้อวด มีเพื่อประชันขันแข่งกับผู้อื่น มีเพื่อคนอื่นเขาเห็นว่าเรามี ทั้งๆที่อันที่จริงมันไม่ได้มีความจำเป็น เมื่อไรถึงขั้นนั้นมันก็จะเริ่มทุกข์มาก แล้วเมื่อไรที่เรา อยาก ปรารถนาในการมีมนุษย์สมบัติมากจนกระทั่งเบียดเบียนไปละเมิดศีล อันนั้นมันก็กลายเป็นว่าเราแสวงหามากจนกระทั่งเป็นหนทางของอบายภูมิ คือละเมิดศีลเป็นหนทางที่ทำให้เราตกล่วงไปสู่นรกภูมิ ไม่นับความเร่าร้อนจากความอยากในการแสวงหา ไม่นับความเร่าร้อนความกังวลลึกๆในจิตในการที่เราไปผิดศีลละเมิดศีลไปคอรัปชั่น ลึกๆก็กลัวว่าคนอื่นจะจับได้ ลึกๆก็ว่าจะถูกกฎหมายเล่นงานความผิด ถึงกฎหมายไม่อาจเล่นงานหรือมองไม่เห็นหรือมีแบล็คคอยป้องกันอยู่ แต่ถึงเวลาอันที่จริงลึกในจิตมันก็มีความทุกข์ความกังวลซ่อนอยู่ อันที่จริงการที่มีพอดีพอเพียงพอเหมาะพอสมนั้น ไม่มีหนี้ไม่สร้างหนี้ ไม่เกิดการเบียดเบียน ละเมิดศีล ความทุกข์มันก็ย่อมน้อยกว่า อันนี้ก็คือเรื่องสุขและทุกข์
ส่วนสุขของทางธรรมนั้นก็คือเมื่อวางแล้วเรารู้สึกว่าภาระมันลด มันก็เกิดความสุขจากภาระที่มันลด ความสุขจากความสงบของสมาธิ เมื่อจิตเราปล่อยวาง จิตเราหยุดปรุงแต่ง จิตเราพักจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ จิตละนิวรณ์ห้าประการลงไปได้ ความสงบสุขของใจก็ปรากฏขึ้นตามลำดับที่เรียกว่าฌาน คือลำดับขั้นของความสงบของสมาธิ เรื่องความสุขจากความสงบนั้น เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้บุคคลที่ไม่เคยเข้าสู่การปฏิบัติธรรมเข้าใจ เหมือนกับความสุขจากการปล่อยวางก็ไม่อาจอธิบายให้กับคนที่ไม่เคยที่จะพิจารณาในวิปัสสนาญาณเข้าใจได้เช่นกัน เพราะคนที่อยากก็จะเข้าใจว่า มีถึงจะมีความสุข ต้องมีวัตถุแล้วถึงจะมีความสุข แต่มีแสวงหาไปเท่าไร กิเลสมันก็จะหลอกมันก็จะชักนำให้เราอยากไปในเรื่องอื่นๆ ดังนั้นโลกย่อมไม่เพียงพอกับบุคคลที่มีความโลภโมโทสัน มีพันล้านก็อยากได้หมื่นล้าน มีหมื่นล้านก็อยากได้แสนล้าน มีแสนล้านก็อยากได้ครอบครองทั้งประเทศ ครอบครองประเทศแล้วก็อยากครอบครองโลก ครอบครองเป็นเจ้าโลกแล้วก็อยากเป็นเจ้าจักรวาล ความโลภนั้นมันไม่มีที่สิ้นสุด มันมีความทะยานอยากไป ตราบจนกระทั่งจิตเรานั้นปฏิบัติธรรม เราจึงเข้าใจ เราถึงจำกัดไม่ให้กิเลส ไม่ให้ความโลภมันขยายตัว ฝึกที่จะเข้าใจและปล่อยวาง ฝึกที่จะมีพอดี พระพุทธองค์ท่านจึงทรงบัญญัติให้พระสงฆ์นั้น มีเพียงแค่อัฐบริขาร 8 มีเพียงผ้า 4 ผืน มีที่พักกุฏิที่มีขนาดขอบเขตเพียง ถือว่าไม่กี่ตารางเมตรเท่านั้น อันนี้ก็คือเพื่อดำรงชีพที่พอแค่นี้อย่างแท้จริงก็มีชีวิตอยู่ได้
แต่สำหรับเราที่เป็นฆราวาสก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องกระเบียดกระเสียนมากขนาดนั้น เรามีพอเหมาะพอสม เราพิจารณารู้ว่าสิ่งใดที่มีความทะยานอยากเกินขอบเขตแล้วมันทำให้ทุกข์ เราก็วาง แล้วก็รู้จักพอ รู้จักพอได้เมื่อไร เราก็เป็นเศรษฐีเมื่อนั้น
ถ้าไม่รู้จักพอ มันก็จะมีแต่ความหิวความกระหายจากความโลภเข้ามาครองใจเรามากเท่านั้นเช่นกัน พิจารณาในธรรมแล้ว เราก็ลองพิจารณาว่า อารมณ์จิตที่เป็นความอยาก ความโลภเรามันจางลงไหม มันบรรเทาลงไหม เรามีสติและความยับยั้งชั่งใจในการที่เราจะวางความปรารถนาจนเกินพอดีได้ไหม พิจารณาแล้ว เราก็ตัดเราก็บรรเทาความโลภลงได้หนึ่งตัว จากนั้นก็ไม่อยู่กับความสงบของจิต เข้าใจก่อนว่าความสุขในทางธรรมนั้น ในเมื่อไม่จำเป็นที่จะต้องมีวัตถุ ความสุขมันอยู่ที่ไหน ความสุขจริงๆอยู่ที่ใจของเรา ใจเราวางได้ใจเราปลงได้ก็เป็นสุข ใจเราสงบลงได้ ใจเราก็เป็นสุข ใจของเราตัดความอาฆาตพยาบาทได้ ก็ดับความเร่าร้อนของจิตได้ ใจเราก็เป็นสุข ใจเราปล่อยวางจากโลกธรรมทั้ง 8 ปล่อยวางจากคำด่าว่าคำนินทาว่าร้าย ใจเราก็เป็นสุข สุดท้ายเข้าใจให้ได้ว่า ความสุขนี้อยู่ที่ใจของเรา ความสุขนี้อยู่กับปัจจุบันขณะของเรา ไม่จำเป็นที่จะต้องมีวัตถุก่อนถึงจะมีความสุข ต้องบ้านอย่างนั้นมีวัตถุอย่างนี้ มีลาบูบู้ก่อนถึงจะมีความสุข ใจเราเพียงตัดสงบลงได้ก็เป็นสุข ใจเราทรงอารมณ์เข้าถึงความดับ ยกจิตขึ้นไปพระนิพพานได้เราก็เป็นสุข ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าถึงเข้าใจความสุขในธรรม เราก็จะเริ่มสัมผัสเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าอริยทรัพย์ อริยทรัพย์นั้นก็คือใจเราเมื่อปล่อยวางได้ดับได้สงบได้ เราก็เข้าถึงอริยทรัพย์คือทรัพย์ความสุขของจิตอันเป็นอริยะ ดังนั้นเราลองถามใจของเราดูตอนนี้ เราปฏิบัติธรรมมามากพอสมควร เรามีอริยทรัพย์หรือยัง เราเข้าถึงอริยทรัพย์หรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าถึงพระนิพพานสมบัติหรือยัง
แม้ว่าตอนนี้เราอาจจะยังไม่บรรลุธรรมไม่บรรลุมรรคผลยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า แต่สำหรับเราหลายคนที่ฝึกจิตปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเข้าถึง ยกจิตด้วยกำลังมโนมยิทธิขึ้นไปบนพระนิพพานได้ พิจารณาทรงอารมณ์ เข้าถึงอารมณ์แห่งพระอรหัตผลเพียงชั่วคราวได้ถือว่าเป็น “ขณิกนิพพาน” แม้ว่าเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์เพียงชั่วคราว อารมณ์ที่สัมผัสพระนิพพานชั่วคราว แต่นั่นก็คือเราเข้าถึง การเข้าถึง พอเข้านานเข้า บ่อยเข้า ด้วยความเพียรมากเข้า จากไปได้ครั้งเดียวเพียงไม่กี่นาที แต่เราฝึกทุกวันฝึกทุกสัปดาห์ สะสมแต่ละครั้งเป็นชั่วโมงบ้าง สามสิบนาทีบ้าง นึกถึงเมื่อไรยกจิตขึ้นไปบ้าง พอนับรวม กลายเป็นว่าตลอดชีวิตของเรา ยกจิตขึ้นไปทรงอารมณ์ในพระนิพพานรวมเวลาเป็นเวลาหลายหมื่นหลายพันชั่วโมง ถ้าคูณออกมาก็เป็นหลายๆปี
ดังนั้นเมื่อเราปฏิบัติจนเป็นฌานมีสภาวะชินกับอารมณ์ ถึงเวลาอารมณ์ที่ชินนั้นก็รวมตัว ตายเมื่อไรอารมณ์จิตที่เราฝึกที่เราปฏิบัติ ก็กลับมารวมตัวส่งผล จนกระทั่ง ตายเมื่อไรเราเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ อันนี้ก็คือเป้าหมายแนวทางความเข้าใจในการฝึกในการปฏิบัติ ทำไมต้องฝึกซ้ำทำไมต้องทำซ้ำทำไมต้องปฏิบัติย้ำไป ย้ำก็ย้ำลงไปในจิต ไม่ใช่เพียงแค่เราเคยฝึกปฏิบัติยกจิตขึ้นพระนิพพานได้ครั้งเดียว แล้วก็ไม่เคยฝึกอีกเลยตลอดชีวิต แต่ปรารถนาอยากให้ตายเมื่อไรไปพระนิพพาน ปรากฏว่าตลอดชีวิตที่เราฝึกทำได้ ให้เวลาเต็มที่เลย หนึ่งชั่วโมงอยู่บนพระนิพพาน แต่ตลอดชีวิตเราไม่ขยันฝึกไม่ฝึกต่อไม่ทำต่อ อารมณ์จิตไปชินกับอารมณ์นินทาว่าร้ายบ้าง กระทบกระทั่งกันบ้าง เบียดเบียนบ้าง โลภบ้าง แสวงหาวัตถุบ้าง เกาะเกี่ยวห่วงกับบุคคลอื่นบ้างเป็นเวลาอีก 45 ปีตลอดชีวิตนับจากนั้น ซึ่งบางคนอาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ ดังนั้น 1 ชั่วโมงกับ 45 ปีที่ไปทรงอารมณ์อย่างนั้น อารมณ์โลกโลก ถึงเวลาจะตายมันก็ชินกับอารมณ์โลกโลก มันจะไปพระนิพพานได้แล้วมันก็ไปไม่ได้แม้ว่าเราเคยทำได้แล้ว
ดังนั้นเมื่อทำได้เราก็ควรจะต้องปฏิบัติต่อฝึกต่อย้ำไปเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของบารมีเป็นเรื่องของความเพียง ส่วนการพิจารณาเข้าใจว่าทำไมต้องทำเช่นนี้เป็นเรื่องของปัญญาบารมี พอพิจารณาด้วยปัญญาเข้าใจมันก็จะก่อให้เกิดความเพียรก่อให้เกิดขันติบารมีความอดทน ทั้งวิริยะบารมี ความเพียรขันติความอดทนต่อสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ถึงเวลาเอาแค่อาจารย์สอนทุกอาทิตย์ อาจารย์ขยัน อาศัยสัจจะที่เราตั้งใจว่าถ้าไม่ป่วยแต่ติดกิจธุระจริงๆก็จะสอน อันนี้ก็ถือว่าเป็นสัจจะวาจา เป็นวิริยะบารมี เป็นขันติบารมี มันก็รวมตัวของมันอยู่ แต่ของเรานั่งเรียนกันฝึกกันสบายๆที่สุด เราจะให้สัจจะความจริงใจกับตัวเองได้ไหมที่ว่า ถ้าไม่ติดกิจธุระจริงๆเราก็จะพยายามที่จะไม่ขาด อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังใจขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละบุคคล
สำหรับการปฏิบัติเราก็ฝึกต่อไป ตอนนี้ก็ให้เราทุกคนกำหนดรวมจิต หยุดจิตสงบนิ่ง ทรงอารมณ์จิตให้ผ่องใส กำหนดจิตของเราให้เป็นแก้วใสเป็นประกายพรึก กสิณคือจิต จิตคือกสิณ จิตเป็นปฏิภาคนิมิต จิตกลายเป็นแก้วประภัสสรสว่าง ใจเย็นยิ้มเบิกบานสงบ ทรงฌานในกสิณ เป็นกำลังแห่งสมถะ จากนั้นกำหนดจิตสลายความวุ่นวายความฟุ้งซ่าน ให้กลายเป็นความว่างเวิ้งว้างว่างเปล่าโล่งไปจนหมด ตรงนี้ก็เป็นกำลังของอรูปสมาบัติ จากนั้นจึงกำหนด ให้เห็นภาพพุทธบารมี ภาพพระพุทธองค์ปรากฏทางจิตกลางใจกลางดวงแก้วกลางดวงจิตของเรา เป็นกำลังพุทธานุภาพ มีพุทธบารมี มีพุทธเมตตา มีกระแสของพระพุทธองค์เป็นหนึ่งเดียวกับพุทธนิมิตในจิตของเรา เป็นพระภายในเป็นกำลังพุทธคุณที่อยู่ในจิตในใจของเราตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน
จากนั้นกำหนดจิตขอบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอให้ทั้งดวงจิตเราและองค์พระพุ่งขึ้นไปปรากฏบนพระนิพพาน กายของเราจากดวงแก้วจิตของเราจากดวงแก้วปรากฏสภาวะกลายเป็นกายพระวิสุทธิเทพสว่าง นั่งอยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ รวมน้อมเรียกว่า “มหาสมาคมอยู่บนพระนิพพาน” มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธานแห่งมหาสมาคมนั้น กำหนดว่าเรานั่งเจริญวิปัสสนาญาณพิจารณาธรรม อยู่บนพระนิพพาน จำไว้ว่าเมื่อเรามีกำลัง ใช้กำลังมโนมยิทธิได้ จงรู้ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์มีคุณเรียกว่าเป็นคุณอนันต์ เป็นแต้มต่อที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติทำให้ก้าวหน้ามากกว่าการที่บุคคลที่เขาไม่ได้ จำไว้ว่าเมื่อไรที่เรายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน เราพ้นจากอำนาจของมารทั้งหลาย พ้นจากขอบเขตจากอำนาจของมารอันนี้เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง เมื่อเราอยู่กับพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ คลื่นกระแสจิตคลื่นกระแสพุทธานุภาพ ของพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายที่มีจำนวนมากมายมหาศาลอย่างหาประมาณที่สุดไม่ได้ ก็พลอยแผ่กระแสคลื่นกระแสแห่งอารมณ์ของอรหัตผลความสิ้นแห่งกิเลสทั้งปวง กระแสแห่งวิมุตติ แผ่มาถึงจิตของเราตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อไรที่เรากำหนด ตัดขันธ์ห้าก็ดี ตัดกิเลสก็ดี ตัดสังโยชน์ก็ดี พิจารณาธรรมอยู่บนพระนิพพานก็ดี เราจะพิจารณาตัดได้ง่ายวางได้ง่ายลึกซึ้งละเอียดกว่าเวลาที่เราพิจารณาอยู่ท่ามกลางที่เราพิจารณาอยู่บนโลกมนุษย์ ซึ่งมันเต็มไปด้วยกระแสของโลกคือเต็มไปด้วยความโลภโกรธหลง ยิ่งอยู่ในสถานที่ที่ไม่สัปปายะ มีคลื่นความวุ่นวาย มีกระแสจิต มีกระแสความโลภ มีกระแสของความขัดเคือง มันก็รบกวนอารมณ์จิต รบกวนคลื่นกระแสจิตในการพิจารณาธรรมของเรา
เรื่องคลื่นกระแสจิตต่างๆก็ให้เราพิจารณาเป็นปัญญาเพื่อรู้เพื่อเข้าใจ ถ้าเราเดินเข้าไปในดงที่เป็นที่อโคจร คำว่าที่ “อโคจร” คือเป็นที่ที่ไม่ควรไป ซึ่งจริงๆก็จะใช้สำหรับพระท่านหรือนักบวช เช่นเดินเข้าไปในดงแถวย่านที่เป็นโลกีย์ เช่นเดินไปในถนนเส้นถนนพัฒน์พงศ์ มีแต่เสียงดนตรี มีแต่คลื่นของการดื่มสุรา คลื่นของกามคุณ กระแสจิตมันก็จะถูกปลุกเร้า คลื่นความคิดของคนก็มาแสวงหาความเมาในสุรา ความสุขในกามคุณ ความโลภในการอยากได้ทรัพย์ ดังนั้นคลื่นกระแสมันก็รบกวนใจของเราให้ปั่นป่วนไม่มีความสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่เคยฝึกจิต แต่คนไหนเคยฝึกจิตมาดีแล้วก็ยังอาจที่จะทรงความสงบของใจไม่หวั่นไหวไปกับคลื่นกระแสจิตเหล่านั้นได้
ในขณะเดียวกันหากเราไปนั่งสมาธิหรือเข้าไปในถ้ำ ที่ถ้ำหรือวิหารสถานที่แห่งนั้น มีผู้เจริญพระกรรมฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีครูบาอาจารย์พระอรหันต์ที่มาบรรลุธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ ก็จะมีกระแสของความสงบ มีกระแสของความร่มเย็น มีกระแสของความสงบเย็น บางที่บางแห่งสามารถรับกระแสความสงบเย็นเข้ามาได้ทันที ดังนั้นจุดนี้มันก็เลยเป็นข้อที่สำหรับบุคคลที่ฉลาด เราก็หาที่ที่สัปปายะในการปฏิบัติ ที่ที่ถูกจริตกับเรา ไปนั่งไปปฏิบัติแล้วจิตรวมได้ง่ายสงบร่มเย็นได้ง่าย อันนี้สำหรับคนที่ไม่สามารถแยกถอดกายทิพย์ออกไปได้ก็ต้องใช้สถานที่สัปปายะมาเป็นตัวช่วย อย่างบางสถานที่ที่มีความสงบเย็นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ อย่างที่อาจารย์ไปก็พบถ้ำปากเปียก จังหวัดเชียงใหม่ หรืออย่างล่าสุดที่ไปทริปเชียงใหม่เชียงราย ก็ภายในพระอุโบสถของพระธาตุดอยตุง เดินเข้าไปปุ๊บกระแสเย็นเป็นคลื่นออกมาจากภายในพระอุโบสถ จับสัมผัสทางผิวกายได้อย่างชัดเจน หรือแม้แต่ลูกศิษย์ที่ไปด้วย บอกว่าสัมผัสได้ไหม ก็สัมผัสได้อย่างง่ายดาย สถานที่เช่นนี้ แต่ละบุคคลก็จะมีวาสนาบารมีที่ไปพบไปเจอได้ต่างกัน หรือยังอีกครั้งหนึ่งก็คือ เป็นสถานที่ก็คือวัดผาลาด ที่วัดผาลาดก็จะมีลำธาร ที่ลำธารนั้นก็จะมีก้อนหินก้อนหนึ่ง ตอนนั้นก็บังเอิญไปพบ พาลูกศิษย์ไปปฏิบัติธรรมไปค้างปฏิบัติธรรมที่วัดผาลาด วัดสกิทาคา ก็มีก้อนหินก้อนหนึ่งที่เหมือนมีรอยพระบาทมีรอยประทับสองเท้าพร้อมกับรอยกลมๆอยู่หนึ่ง พอไปยืนเอาเท้าประทับอยู่กับรอยที่เป็นรอยเท้า จิตก็จะรวมเป็นสมาธิและสามารถสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครเคยเกิดเป็นฤาษีเคยเป็นลูกศิษย์ของท่านมหาฤาษีวาสุเทพก็คือตามนามของดอยสุเทพ ก็จะเห็นกายของเรากลายเป็นกายมีกายของท่านทับซ้อนอยู่ เห็นกายเรากลายเป็นฤาษีถือไม้เท้ากำอยู่ พร้อมกับจิตรวมธาตุทั้ง 4 รวมจากสภาวะที่จุดนั้นเป็นจุดรวบธาตุ คือน้ำที่ไหลผ่านจากลำธาร ช่องลมที่พัดผ่าน ก้อนหินก็เป็นธาตุดิน ดินน้ำลมไฟครบสมบูรณ์อยู่ จิตรวมเป็นสมาธิอย่างยอดเยี่ยม สงบนิ่ง ทุกคนที่ไปยืนตรงนั้นก็สัมผัสได้ จนสุดท้ายลำธารนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับทัศนียภาพ แต่โชคดีที่ได้กราบเรียนทางท่านเจ้าอาวาสคือพระมหาสง่าเอาไว้ ตอนแรกอาจารย์ก็เข้าใจว่าเขามีการเคลื่อนไหวและสูญหายไป แต่ปรากฏว่าพระอาจารย์ท่านก็ทราบ ท่านก็ยกก้อนหินนั้นไปไว้ในวิหารพร้อมกับรอยเท้านั้นปิดทอง รอยไม้เท้าก็ปิดทอง สรุปรวมความว่า คนอื่นก็ไม่มีโอกาสได้ทรงสมาธิ ณ จุดนั้นได้อีก ก็เหมาะสำหรับการที่ไปกราบสักการะที่หน้าก้อนหินนั้นแล้วก็เจริญสมาธิ อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าเป็นเกร็ดให้ฟัง
ตอนนี้ก็ฝึกต่อในเรื่องของ การพิจารณาทรงอารมณ์จิตเราไว้บนพระนิพพาน พิจารณาธรรมต่อไป ว่าในการปฏิบัติธรรมนั้นบางคนปฏิบัติแล้ว เคยผ่านช่วงเวลาที่ปฏิบัติสมาธิดีเลิศมาก อันนี้จากประสบการณ์ที่อาจารย์สัมผัส เล่าให้ฟังว่าผมบ้างหนูบ้างทั้งผู้ชายผู้หญิง เคยทำสมาธิแล้วจิตมันรวมดิ่ง ดีแนบอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน หรือฝึกสมาธิแล้วจิตมันรวมจนเวลาข้ามไปทั้งคืน แต่ส่วนใหญ่ถ้าถามก็คือ แล้วทำอีกได้ไหม ผลก็คือ ทำได้หนนั้นหนเดียวแล้วก็ไม่เคยทำได้เลยตลอดชีวิต อันนี้คืออย่างที่หนึ่งคนเคยได้ ซึ่งคนเคยได้อธิบายก็คือ เป็นบุพเพกตบุญญตา คือของเก่าเคยทำเคยเจริญจนได้มาก่อน จริงๆสำหรับคนเคยได้นี้จริงๆต้องใช้ปัญญาฉุกคิดพิจารณาว่า ถ้าเราเคยได้เช่นนี้ ทำอย่างไรเราถึงจะทำเช่นนี้ได้อีกอันนี้คือขั้นที่หนึ่ง พอทำได้อีกครั้งหนึ่ง ทำเช่นไรเราจะสามารถทรงสมาธิได้อย่างนี้เป็นวสี เป็นสมาบัติ คือทำได้ทุกครั้ง เข้าถึงจุดนี้ได้ทุกครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็คือคง status สภาวะที่เป็นคนเคยได้ เอาไว้เล่าให้คนอื่นฟังว่าฉันเคยได้จบ อันนี้คือประเภทที่ 1 ที่อาจารย์เคยพบ
หรือประเภทที่ 2 ประเภทต่อไป ฝึกสมาธิแล้วทำได้ ทำได้อย่างเช่นคนที่เคยฝึกมโนมยิทธิแล้วได้ บางคนทำได้มีความคล่องตัวชัดเจน ฝึกอีกครั้งก็ยังทำได้ จำไว้ว่าประเภทนี้เป็นเรื่องของ 1 เป็นบุพเพกตบุญญตา 2 พระท่านสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายมโนมยิทธินี้ขอบอกว่า ขออนุญาตเรียกว่า ช่วงโปรโมชั่น คำว่าช่วงโปรโมชั่นนั้นก็คือ พระท่านเล็งญาณเห็นแล้วคือพระพุทธองค์ก็ดี หลวงพ่อที่ท่านมาตามลูกหลานท่านก็ดี เห็นแล้วว่าคนคนนี้หรือบุคคลนี้ซึ่งอาจจะเป็นตัวเรานี่แหละ อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ท่านก็เมตตาสงเคราะห์เต็มกำลัง คือให้มันได้เต็มที่ ให้มันได้ชัดเจน อย่างบางคนที่ได้มีความชัดเจนขึ้นมาบนพระนิพพานเห็นวิมานละเอียดเรียกว่า Detail รายละเอียด ลายกนก ลายเครื่องประดับของเสาของพระแท่นของยอดวิมานของเราเอง กายทิพย์ของเราเองเห็นชัดเจนสว่าง แยกกายแยกจิต เรียกว่าแทบจะเต็มกำลัง อันนี้อันที่จริงเวลาที่ท่านสงเคราะห์เต็มอัตรา ท่านทำเพื่อให้เราสิ้นสงสัย สิ้นสงสัยก็คือ สมาธิที่ได้ ญาณที่ได้ สิ่งที่ปรากฏจากการปฏิบัตินั้นมันชัดเจนจนเกินสิ่งที่เรียกว่าคิดไปเองหรือมโนไปเอง อันนี้คือท่านสงเคราะห์ แต่บางทีเราก็ไปเข้าใจว่าเป็นความสามารถของเรา เราก็ละเลยบ้างไม่เห็นค่าที่จะฝึกซ้ำที่จะทำให้เป็นวสี ไม่พยายามปฏิบัติจนกระทั่งมันทรงตัว ทำได้ทุกครั้ง สำเร็จทุกครั้ง ชัดเจนทุกครั้งได้ตลอด พอเป็นเช่นนั้นแล้วถึงเวลาพระท่านก็เห็นว่าบุคคลนี้ก็เหมือนกับไก่ได้พลอยไม่เห็นค่า เป็นเหมือนลิงได้แก้วคือได้ของดีแล้วไม่รู้จักคุณค่า ท่านก็ผ่อนลงมา ลดกำลังที่ท่านสงเคราะห์ลงมา ดังนั้นคราวนี้เวลามาฝึกใหม่มันก็จะไม่ชัดเหมือนเก่า
สำหรับบุคคลที่เมื่อไรที่เราได้ชัดเจน เราก็ต้องยิ่งทำความเข้าใจตัดวิจิกิจฉา คือท่านเมตตาโปรดให้ชัดขนาดนั้นแล้ว เราก็ต้องตัดวิจิกิจฉาไปเร็วๆไม่ต้องมานั่งถามอีก ว่าตกลงใช่ไม่ใช่ จริงไม่จริง ตัดไปเลย พิจารณาไปเลยว่า พระท่านสงเคราะห์เต็มกำลัง เป็นญาณเครื่องรู้ เป็นกำลังมโนมยิทธิที่ปรากฏจริง จากนั้นจึงค่อยไปพิจารณาในญาณอีกครั้งหนึ่งว่าญาณเครื่องรู้ที่ปรากฏธรรมะที่ได้รับได้รู้นั้น พิจารณาตามหลักกาลามสูตรแล้ว เห็นจริงได้จริงไหม พิจารณาแล้วมีผลจริงไหมตามอีกครั้งหนึ่ง แต่พยายามละ พยายามตัดวิจิกิจฉาลงให้เร็วที่สุด เห็นภาพพระพุทธ เราชัดขนาดนี้เราก็ต้องรู้แล้วว่าจิตเราถึงพระจริง เอาข้อนี้จุดนี้ให้มั่นคงให้ได้ก่อน ในเรื่องของโปรโมชั่นนี้เชื่อว่า 99% น่าจะเคยเจอสำหรับสาย คนที่เคยฝึกมโนมยิทธิ สำหรับตัวอาจารย์เองตั้งแต่เริ่มฝึกในจุดนี้ก็เคยได้หลายครั้ง ตั้งแต่ได้มโนมยิทธิครั้งแรกปุ๊บท่านก็แสดงให้เห็นเต็มอัตราเรื่องนั้นเรื่องนี้เรียกว่ารู้ตื่นอย่างมากมาย แถมมีแบบนี้อีก มีคืนหนึ่งท่านมาเข้าฝัน ตอนนั้นก็ปฏิบัติต่อเนื่องอยู่ที่วัดท่าซุง คือตั้งใจว่าจะไปฝึกมโนมยิทธิให้ได้ ไปที่วัดท่าซุง 7 วันช่วงมโนมยิทธิ แต่อยู่ต่อจนครบ 7 วันคือไปวันแรกๆก็วันที่เริ่มฝึกมโนมยิทธิ ฝึกตอนแรกก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องไปแอบฟังกลุ่มอื่นที่มีคนเขาคุยกันเรื่องปฏิบัติ พอฟังแล้วแอบฟังปรากฏว่าได้ตอนแอบฟัง คือฝึกแล้วได้ตอนที่มันเป็นการปฏิบัติแบบไม่เป็นรูปแบบ อันนี้เรื่องที่หนึ่ง จากนั้นพอมาฝึกมโนเต็มกำลังก็ปรากฏว่าได้เลยแต่ก็ปรากฏว่าได้นอกเวลาอีก คือในระหว่างที่นั่งรอจะฝึกมโนมยิทธิเต็มกำลัง นั่งทรงอารมณ์พิจารณาไป ปรากฏว่าหลุดออกไปเป็นเต็มกำลังไปอยู่หน้าพระอินทร์แล้วก็พระชายาของพระอินทร์ ไปนั่งอยู่หน้าแท่นชัดเจนสว่างไสว ท่านหนุ่มท่านสวยท่านหล่อทั้งสองพระองค์ ภาพที่เห็นสว่างมีสปอร์ตไลท์เป็นสิบสิบดวงส่องสว่าง นั่งคุยไม่ได้ นั่งแต่มองหน้าท่านอย่างเดียว เห็นก็รู้ นั่นคือพระอินทร์แน่นอน ตอนนี้ภาพก็ยังติดตาติดใจอยู่
จากนั้นสักครู่ก็พุ่งจิตขึ้นไปบนพระนิพพานสว่างเต็มไปหมด อยู่บนพระนิพพานนิ่งๆอยู่พักใหญ่ ปรากฏว่าเขาประกาศว่าถึงเวลาฝึกมโนมยิทธิเต็มกำลัง ก็เลยกลายเป็นว่าร่วงกลับลงมา ก็กลายเป็นว่าได้เต็มกำลังก่อนที่เขาจะเริ่มฝึก อันนี้เป็นเรื่องที่มันเป็นเรื่องวิสัยของพุทธภูมิ มีความจำเป็นที่จะต้องได้ด้วยตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องวาระเป็นเรื่องเฉพาะตน ส่วนโปรโมชั่นต่อมาก็คือพอพักต่ออีกสักพักหนึ่ง อยู่ต่อจนกระทั่งคนเขากลับหมดแล้ว บริเวณที่พักก็โล่ง มีคนพักอยู่เพียงแค่ 3- 4 คน มีคืนหนึ่งก็ฝันไปว่าหลวงพ่อฤาษีท่านมารับ ท่านเดินทางมารับที่วัด พร้อมกับใช้รถโฟล์คตู้ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นรถตู้ที่หรูที่สุด เอารถตู้มารับ เปิดประตูรถมา ไป ไปกับพ่อเดี๋ยวพ่อพาไปเที่ยว ก็ขึ้นรถตู้โฟล์คตู้อย่างดีไปกับท่าน แล้วถึงเวลาท่านก็พาไปที่วัดสังกัสรัตนคีรี ก็คือที่ตักบาตรเทโว แล้วท่านก็บอกเดินขึ้นเดินขึ้นไปพระบาทข้างบน พ่อสร้างไว้ กายทิพย์ในฝันก็เดินไป เดี๋ยวท่านรออยู่ในรถในฝันนั้นว่าแบบนี้ พอขึ้นไปก็เห็นรอยพระบาท เห็นป้ายที่ท่านสร้างไว้ เห็นชัดเจนแจ่มใสทุกอย่างก้าวเดินที่ก้าวเดินขึ้นไปตามบันได ขึ้นไปยอดเขาก็เห็นปรากฏชัดเจน จากนั้นไม่นานก็ตกใจตื่น แต่คราวนี้ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น คนที่เขามาพักด้วยรู้จักกัน คนนี้ก็ชื่อว่าคุณก้อง ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรถือว่าเป็นบุคคลที่ท่านสงเคราะห์อาจารย์มากพอสมควร จริงๆก็อายุน้อยกว่าประมาณ 1 ปีเป็นรุ่นน้องที่คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ คุยไปคุยมาก็บอกว่า เดี๋ยววันนี้เราไปเที่ยวกัน แต่การไปเที่ยวก็คือไปเที่ยวที่วัดสังกัสรัตนคีรี แต่คราวนี้มันช่างไม่เหมือนความฝัน ไม่เหมือนความฝันก็คือโบกรถสิบล้อกันไปหน้าวัด ตอนนั้นยังหนุ่ม พอถึงเวลาไปถึงวัด เดินขึ้นบันไดก็มีสภาพเหมือนในฝันทุกอย่าง ขึ้นไปพระบาทก็มีเหมือนทุกอย่าง สุดท้ายขึ้นไปเห็นป้ายวัดพระราชพรหมญาณมาสร้าง มาทํานุบำรุงวิหารและรอยพระบาทนี้ไว้ ถึงเวลามันก็ตรงกับความฝันทุกอย่าง เอาเป็นว่าท่านก็สงเคราะห์ให้มั่นใจว่าท่านมาโปรด มาโปรดในความฝันร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไป มีเพียงแค่รถ VIP ที่มารับนั้นมันไม่ใช่รถโฟล์คตู้ กลายเป็นว่าต้องโบกเรียกรถสิบล้อขึ้นหลังรถสิบล้อมากัน สมัยนั้นยังหนุ่มมาก เราก็ใช้ชีวิตโลดโผนหน่อย อันนี้ก็เป็นเรื่องของโปรโมชั่นที่เล่าให้ฟัง
ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราได้รับการสงเคราะห์จากพระให้มีความชัดเจน พึงรีบตัดวิจิกิจฉาให้เร็วที่สุด ยิ่งตัดได้เร็วมากเท่าไรก็ยิ่งเสียเวลาน้อย ก้าวหน้าได้มาก มันไม่คาอยู่กับสงสัยว่าใช่ไม่ใช่ จริงไม่จริง ได้ไม่ได้ กราบถึงพระจริงไม่จริง
อาจารย์ถึงสอนตั้งแต่ต้นว่ากราบ เราตัดวิจิกิจฉาเลย กราบพระเมื่อไร จิตเราถึงพระพุทธองค์แทบเบื้องพระบาทพระพุทธองค์บนพระนิพพานตลอด ทำจนกระทั่งจิตสิ้นวิจิกิจฉามันก็จะไปตัดในส่วนของสังโยชน์อันเป็นองค์ของความเป็นพระโสดาบัน สิ้นวิจิกิจฉา ดังนั้นเมื่อไรที่มีโปรโมชั่น พึงรีบใช้ พึงขอบคุณ พึงสำนึก พึงรู้ค่า พึงรีบเร่งที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติ อันนี้ก็เป็นข้อแนะนำ
ส่วนสุดท้ายของคนที่ปฏิบัติจากข้อที่ 1 คนเคยได้ 2 คนได้โปรโมชั่น 3 คนที่ปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ ส่วนประเภทที่ 4 คนที่ปฏิบัติสม่ำเสมอก็ถือว่าเรามีความสม่ำเสมอพยายามรักษาให้ทรงตัว ส่วนสุดท้ายที่จริงเป็นคนที่เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติจริงๆก็เรียกว่า พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นผู้ที่ทรงสมาบัติ
ตามที่เคยได้อธิบายมาแล้วว่า คำว่าทรงสมาบัตินั้นแปลว่า ความสามารถของสมาธิจิต เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าเคยได้ ไม่ใช่ว่าแค่เคยสัมผัส อาการทรงตัว ทรงตัวก็คือมีความเสถียรมีความสม่ำเสมอ เคยได้เท่าไรก็ต้องได้เท่านั้น เคยรวดเร็วเข้าฌานลัดนิ้วมือเดียวได้เท่าไรก็ต้องได้เท่านั้น เข้าถึงวสี อันนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นผู้ทรงสมาบัติ เช่น ทรงสมาบัติในอานาปานสติ กำหนดหยุดจิต นิ่ง ลมดับ เอกัตคตารมณ์ปรากฏ ทำได้ทันที
กำหนดจิต จิตเป็นประกายพรึกเป็นปฏิภาคนิมิต ฌานสี่ในกสิณจิตเป็นปฏิภาคนิมิต ทรงได้ทันที
ความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายกสิณ ย่อเล็กขยายใหญ่ เปลี่ยนกอง สลับกอง เป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้ความพยายาม
ทรงอารมณ์จิต กำหนดในอรูป กำหนดสลายล้าง ว่าง โล่ง ขาว เราละวางสลายได้ทันที เข้าสู่สภาวธรรมของอรูปสมาบัติ ดับล้างเข้าถึงความว่างความสงบได้ทันที อันนี้ก็ถือว่าทรงสมาบัติ 8 อย่างแท้จริง
ทรงภาพพระสามฐาน พรึบ พระ 3 ฐานปรากฏเหนือกระหม่อมจอมขวัญ ในศีรษะ ในอก ปรากฏขึ้นทันที อันนี้ก็ถือว่าเราทรงสมาบัติในการทรงภาพพระสามฐาน ความคล่องตัว ความรวดเร็ว วสีเป็นปกติ
กำหนดอารมณ์จิต ยกจิตในกำลังมโนยิทธิ เห็นภาพพระอยู่กับพระ พรึบขึ้นไปบนพระนิพพานได้ทันที อันนี้ก็ทรงสมาบัติในอารมณ์อุปมานุสติกรรมฐานทรงอารมณ์พระนิพพานได้ทันที
ดังนั้นสุดท้ายเป้าหมายของการปฏิบัติของการทรงตัวของจิตของการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าอาจารย์ตั้งมาตรฐานไว้สูง ก็คือตั้งใจว่าเราที่ฝึกเมตตาสมาธิควรจะถือว่าเป็นผู้ที่ทรงสมาบัติให้ได้ คือเข้าถึงวสีความชำนาญ เข้าฌาน 4 ลัดนิ้วมือเดียว ทรงอารมณ์กสิณได้ลัดนิ้วมือเดียว และสุดท้ายสิ่งที่ดีที่สุดที่มันจะเป็นผลที่เชื่อมโยงกับการตัดกิเลสและการก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าก็คือ ปล่อยวางได้ทันทีไหม วางได้ทันทีไหม สติรู้ปุ๊บวาง สติรู้ปุ๊บวาง สติรู้ว่าทุกข์วาง สติรู้ว่าเศร้าหมองวาง สติรู้ว่านี่เรายึดเราวาง ถ้าปฏิบัติจนมีความคล่องตัวขนาดนี้ ไม่นาน ไม่ต้องถามถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ดังนั้นถึงบอกว่า ประเภทต่างๆของคนที่ปฏิบัติสมาธิมาแล้ว อันนี้อาจารย์ตั้งนิยามแนวทางจากประสบการณ์ ซึ่งที่จริงก็เป็นไปตามนั้น ข้ามไปนิดหนึ่งตรงข้อที่ 3 ว่ามีความปฏิบัติมีความสม่ำเสมอคือปฏิบัติมันทุกวัน แต่การปฏิบัติมันมีความขึ้นขึ้นลงลง คือยังไม่มีความเสถียร บางทีบางครั้งบางวันก็ต้องตั้งท่ามาก บางวันก็ตั้งท่าน้อย บางวันก็นั่งสมาธิมีความเพียรที่จะทำ แต่บางวันมันก็ทำไม่ได้ อันนี้ก็ถือว่าความเสถียรความทรงตัวความตั้งมั่นจนเป็นสมาบัติมันยังก้าวไม่ถึงจุดนั้น ดังนั้นข้อนี้ก็ให้เราได้อาศัยพิจารณาตัวเอง
แนวทางในการฝึกเพื่อเข้าถึงการทรงสมาบัติมันก็มีอยู่ พอเราก้าวมาถึงจุดที่เป็นจุดที่เป็นฌานสี่ของแต่ละจุดไปเรียบร้อย ที่เราฝึกที่เราเรียนกัน เพียงแต่ว่าทำยังไง หนึ่งอธิษฐานวสี สองทบทวนอารมณ์ สามทำซ้ำ สี่ฝึกในทุกสถานการณ์ ไปในที่ที่วุ่นวายที่สุด ทรงภาพพระได้ไหม ที่ที่มันวุ่นวายมากๆ ขึ้นไปบนรถไฟฟ้าแน่นๆวุ่นวายมากๆ มีการกระทบมีการเบียดกันแต่เราทรงสมาธิได้ไหม ตัดความวุ่นวายได้ไหม เราฝึกทุกอย่างทุกสิ่ง เมื่อไรที่ฝึกได้ทุกสถานที่ทุกสถานการณ์ ฝึกโดยไม่ต้องมีรูปแบบได้ เมื่อนั้นถึงจะเป็นสมาบัติ ถ้ายังติดในรูปแบบ เราจะต้องอยู่ที่วัด จะต้องนั่ง จะต้องอยู่หน้าพระเท่านั้นถึงจะฝึกถึงจะทำ อันนี้ก็ยังถือว่าส่วนใหญ่จับได้เลยว่า ความทรงตัวก็ยังไม่ค่อยมีอย่างที่ควรจะเป็น ของจริงต้องฝึกชนิดที่ทุกสถานการณ์ แล้วก็จะทำให้เราเผชิญกับสิ่งที่กระทบ แล้วก็รู้ว่าเมื่อเราเจอสิ่งกระทบ เราวางได้ไหม เราสงบได้ไหม เรานิ่งได้ไหม เราเมตตาได้ไหม อันนี้ก็คือการปฏิบัติ ให้เราพิจารณาทบทวนของเรา
สำหรับวันนี้ก็สมควรกับเวลา ก็ให้เราน้อมจิตทรงอารมณ์บนพระนิพพานตั้งจิตอธิษฐาน
เป็นอธิษฐานบารมีบนพระนิพพานว่า
ขอให้จิตข้าพเจ้านี้ จดจำบันทึกทุกกรรมฐานในทุกครั้งแห่งการปฏิบัติ สะสมเพาะบ่มรวมตัวไม่ตกหล่น รวมตัวทุกลมหายใจ ทุกการปฏิบัติ ทุกวินาทีแห่งการปฏิบัติ ยิ่งทำให้จิตข้าพเจ้าแนบแน่น ชินเป็นฌาน จนจิตรวมตัวเป็นสมาบัติ และขอให้อารมณ์สมาธิทั้งสมถะและวิปัสสนาที่ข้าพเจ้าเคยเจริญได้แล้วเคยถึงแล้ว ก็ขอให้มีความทรงตัว จดจำอารมณ์พระกรรมฐาน ทรงอารมณ์พระกรรมฐาน เข้าสู่อารมณ์พระกรรมฐานที่เคยได้ ในทุกครั้งทุกเวลาทุกสถานที่ทุกอิริยาบถ ลืมตาหลับตายืนเดินนั่งนอนได้ตลอดชีวิตได้ทุกชาติภพตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเถิด
อันนี้ก็ถือว่าเป็นอธิษฐานวสี
จากนั้นเมื่ออธิษฐานแล้วก็อธิษฐานต่อ
ขอให้จิตข้าพเจ้า น้อมรวมลงสู่กระแสพระโลกุตระธรรมเจ้า จิตข้าพเจ้าขอจงเชื่อมโยงกับพระนิพพาน ขอกำลังแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเชื่อมโยงกับจิตเชื่อมโยงกับองค์พระภายในของข้าพเจ้า มีกำลังแห่งพุทธานุภาพ ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอความสวัสดีมงคลจงมีต่อข้าพเจ้า ขอข้าพเจ้าเจริญรุ่งเรืองในพระศาสนาขององค์พระสมณโคดมพระพุทธเจ้าองค์ที่สี่แห่งภัทรกัป ขอให้จิตข้าพเจ้ามุ่งลัดตัดตรงสู่มรรคผลพระนิพพาน ขอมรรคผลการปฏิบัติข้าพเจ้า เป็นไปโดยเร็ว ไม่อ้อมค้อม ไม่เสียเวลา ไม่ผิดเพี้ยนไม่พลิกจิตไปเป็นมิจฉาทิฐิได้ ขอความเป็นสัมมาทิฐิประทับแน่นในจิตข้าพเจ้า มีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ตั้งมั่นอยู่ตลอดชีวิตของข้าพเจ้าตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเถิด
จากนั้นแผ่เมตตาสว่าง น้อมกระแสจากพระพุทธองค์ทุกๆพระองค์ กระแสจากพระนิพพาน แผ่ความเมตตาความสุขสงบความร่มเย็นบุญกุศล ลงมายังอรูปพรหมทั้ง 4 พรหมโลกทั้ง 16 ชั้น สวรรค์ทั้ง 6 รุกขเทวดาทั้งปวงทั่วอนันตจักรวาล ภูมิเทวดาทั้งหลายทั่วอนันตจักรวาล มนุษย์และสัตว์ที่มีกายหยาบขันธ์ห้าทั่วอนันตจักรวาล โอปปาติกะสัมภเวสีดวงจิตที่ปะปนอยู่กับภพทั้งหลาย มิติทั้งหลาย เมืองบังบดทั้งหลาย ขอจงได้รับบุญกุศล ปรับภพภูมิ เปรตอสุรกายทั้งหลาย ขอจงได้รับบุญกุศล สัตว์นรกทั้งหลายทุกขุม ขอจงได้รับบุญกุศล ความเมตตา ความสงบ ความร่มเย็น กระแสธรรม กระแสของความสงบเย็น กระแสแห่งพระนิพพาน กระแสแห่งโลกุตระธรรม
จากนั้นจึงน้อมจิตอธิษฐาน ขอกระแสบุญจากการเจริญพระกรรมฐานเป็นอภิจิต ร่วมจิตที่เราปฏิบัติ ขอจงเป็นกระแสบุญหนุนนำชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้เจริญรุ่งเรือง ขอเหล่าพาลชน บุคคลผู้มีอกุศลจิต บุคคลผู้มีจิตเจตนาร้ายเบียดเบียนปวงชนทั้งหลาย เบียดเบียนสถาบัน ทำลายทำร้ายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอจงพลิกจิตพลิกใจแพ้ภัยตนเองไปในที่สุด และขอให้บุญกุศลนี้หนุนนำ ขอพระสยามเทวาธิราชจงมีกำลังแห่งเทพฤทธิ์บุญฤทธิ์อิทธิฤทธิ์ ขอเทวดาทั้งหลายพรหมทั้งหลาย ผู้พิทักษ์รักษาพระบวรพุทธศาสนา พระพุทธรูปวัดวาอาราม พระบรมธาตุ และเทพพรหมเทวาที่ดูแลเมตตาปกป้องผู้ปฏิบัติธรรมผู้ประพฤติธรรมทุกคน ขอจงได้รับบุญกุศล จงเปี่ยมเพิ่มพูนด้วยเทพฤทธิ์บุญฤทธิ์อิทธิฤทธิ์ ยิ่งมีกำลังเพิ่มขึ้น รัศมีกายสว่างเพิ่มพูนขึ้นทุกพระองค์ด้วยเถิด
ขอกำลังแห่งบุญกุศลน้อมอุทิศเป็นกำลังอภิจิตและสัตยาธิษฐาน ถึงเทวดาพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้พิทักษ์รักษาพระชนมวารแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เทวดาพรหมผู้พิทักษ์รักษาพระเศวตฉัตร พระที่นั่งพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง พระที่นั่งทุกพระองค์ เรือพระที่นั่งพระราชยานพาหนะทุกพระองค์ ขอจงมีเทพพรหมเทวาผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ปกป้อง รวมถึงบุคคลที่มีใจซื่อตรง ปรารถนาดี มุ่งทำนุบำรุงชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ขอจงได้รับบุญกุศลเป็นเกราะแก้วคุ้มครองป้องกัน ขอจงมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีแต่ความสุขสวัสดี มีบุญอำนาจวาสนาที่จะขึ้นมาดูแลช่วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการพัฒนายอยกให้เข้าสู่ยุคชาววิไลได้โดยเร็วโดยพลันด้วยเถิด น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา ให้กำลังบุญที่เราเจริญพระกรรมฐานยังประโยชน์กลายเป็นปฏิปทาสาธารณประโยชน์กลายเป็นบุญใหญ่ทบเท่าทวีคูณขึ้นเพิ่มพูนขึ้น กรรมฐาน บุญแห่งการเจริญพระกรรมฐาน ไม่เป็นไปเฉพาะเพื่อมรรคผลพระนิพพานของตน แต่เป็นไปเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อบ้านเมือง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ตัวเราก็ยิ่งมีความสุขความเจริญเพิ่มขึ้น
เมื่อน้อมจิตจนจิตเรามีความเอิบอิ่มยินดีในกุศลแล้ว เราก็น้อมจิตกราบลาทุกท่านทุกๆพระองค์ กราบลาด้วยความเคารพ กราบลาด้วยความนอบน้อม กราบลาด้วยความรู้สึกสำนึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ เทพพรหมเทวาที่พิทักษ์รักษาคุ้มครอง
จากนั้นพุ่งจิตกลับมาที่โลกมนุษย์มายังกายเนื้อพร้อมกับกระแสพระนิพพาน กระแสธาตุธรรมกระแสแห่งพระนิพพานชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ ผมขนเล็บฟันหนังใสสว่างสะอาดเป็นแก้ว โครงกระดูกใสเป็นแก้ว หลอดเลือดเส้นเอ็นใสสะอาดเป็นแก้ว อาการ 32 ทั่วร่างกาย อวัยวะภายในทั่วกายใสสะอาดเป็นแก้ว โรคภัยไข้เจ็บสลายตัวไป อวิชชาคุณไสยมนต์ดำ สิ่งที่เป็นมลทินสิ่งที่เป็นอกุศลจิต สิ่งที่เป็นมิจฉาทิฐิ สิ่งที่มันติดมาในขันธสันดานอันเป็นโทษเป็นภัยต่อตนเอง สลายออกไปด้วยกระแสแห่งกุศล สลายล้างออกไป ทั้งกาย วาจาและจิต จนสะอาดผ่องใส กายเนื้อกายทิพย์กลายเป็นแก้วใสสว่าง มีแต่สิ่งที่เป็นอุดมมงคล ทำสิ่งใดก็มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม มีแต่ความคล่องตัว มีแต่ความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ สวดมนต์ว่ากล่าวพระคาถาบทใดก็ก่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ ด้วยกุศลจิตของเรา
จากนั้นน้อมจิตโมทนาสาธุกับเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันและที่มาฟังในภายหลัง จิตน้อมด้วยความเอิบอิ่มเป็นสุข
จากนั้นค่อยๆหายใจเข้าช้าลึกยาว สงบ ภาวนา พุทออกโธ หายใจเข้าออกช้าลึกยาวครั้งที่ 2 ธัมโม ใจแย้มยิ้มเอิบอิ่มปีติสุข หายใจเข้าออกช้าลึกยาวครั้งที่ 3 สังโฆ จิตเอิบอิ่มเป็นสุข จากนั้นลืมตาขึ้นช้าๆ ใจเป็นสุข
ก็ขอให้เราทุกคนมีความสุขความเจริญ อย่าลืมที่จะช่วยกันเขียนแผ่นทองอธิษฐานสร้างพระเจ้าองค์แสนพระนิพพานทุกครั้งที่เรายกจิตขึ้นพระนิพพาน วันหนึ่งขึ้นพระนิพพานหลายครั้งก็เขียนหลายแผ่นได้จะได้ครบ แล้วก็วันอาทิตย์สัปดาห์หน้าก็จะเป็นวันที่เป็นคอร์สเมตตาสมาธิที่สมาคมศิษย์เก่าจุฬา สำหรับคนที่จองไม่ทันจริงๆ หรือว่าสามารถไปได้ก็สามารถหลังไมค์ได้บ้าง อันนี้ให้เป็นสิทธิ์เฉพาะผู้ที่เราปฏิบัติ เจอตัวอาจารย์แล้วฝึก กล้ารับประกันว่าสัมผัสกระแสได้มากกว่าออนไลน์ด้วยซ้ำ ถ้าเป็นไปได้ก็มาพบมาเจอมาฝึกกัน ถ้าใครอยากมาได้จริงๆก็หลังไมค์มาได้ ถ้าคนไหนจองไปแล้วมาไม่ได้ก็พยายามแจ้งล่วงหน้าเพื่อจะได้รักษาสิทธิ์ที่นั่งแล้วก็อาหารให้กับคนที่เขาตั้งใจมาอยากมา พยายามแจ้งล่วงหน้าให้ทราบไวๆ
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน ขอให้มีความสุขความเจริญ นำธรรมะที่ปฏิบัติไปพิจารณาพัฒนาตนพัฒนาจิตขึ้น
สำหรับวันนี้สวัสดี
เรียบเรียงและถอดความโดย : Be Vilawan